ไขคำตอบ! แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรคุย 2 นาทีถูกดูดเงินเกลี้ยง จริงหรือไม่-
กรณีอดีตสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไทย ที่ถูกหลอกไปทำงานที่กัมพูชา เข้าให้ข้อมูลกับเพจสายไหมต้องรอด หลังหลบหนีออกมา พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือ กลยุทธ์ใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี เพียงโทร 2 นาทีเท่านั้น!
กระทั่งตำรวจ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง และยังไม่เคยพบเคสแบบนี้ ทำให้กรณีดังกล่าว ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และตั้งคำถามว่าการดูดเงินจากการโทรเพียง 2 นาทีนั้นจริงหรือไม่? หรือเรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร?
แฉกลยุทธ์ใหม่! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกคุย 2 นาที-ดูดเงินได้เกลี้ยงบัญชี
ตร.ยังไม่พบเหยื่อแจ้งความ! แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกคุย 2 นาที-ดูดเงินหมดบัญชี
สมาคมธนาคารฯ ยืนยัน ไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน
กลยุทธ์ใหม่! โทรคุย 2 นาที ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี ?
นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 23 ปี หนึ่งในแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทย กล่าวว่า ตนถูกหลอกไปทำงานในภูริคาสิโน เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ก่อนหลบหนีออกมาในวันที่ 4 ก.พ. 67 พร้อมเข้าให้ข้อมูลกับเพจสายไหมต้องรอด และแถลงรายละเอียดในวันที่ 12 ก.พ. 67
นายเอ เล่าว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตนไปทำงาน มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาก มีเครื่องดูดเงินจำนวน 4 เครื่อง เป็นเครื่องที่มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท มีเจ้าของเป็นคนจีน ซื้อข้อมูลเหยื่อมาจากธนาคารรัฐแห่งหนึ่งในประเทศไทย และค่ายมือถือค่ายหนึ่ง
เมื่อตนเห็นข้อมูลก็พบว่า ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ถูกขายจะเป็นของกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีเงินในบัญชีหมุนเวียน อย่างต่ำ 60 ล้านบาท พร้อมอธิบายว่า ตนจะรับหน้าที่ในการโทรไปหาเหยื่อ ซึ่งเป็นข้าราชการหรือคนที่มีเงิน
จากนั้นจะให้เหยื่อยืนยันเลขบัตรประชาชนว่าใช่หรือไม่ เพราะข้อมูลบัตรประชาชนจะถูกโยงกับข้อมูลธนาคาร โดยที่ตนจะบอกเหยื่อว่า เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โทรมาตรวจสอบข้อมูล ให้เหยื่อบอกข้อมูล ยืนยันตัวตน ซึ่งอาจตอบเพียงแค่ “ใช่” ใช้เวลาคุย 1 – 2 นาที เพื่อให้เครื่องสามารถดูดเงินของเหยื่อได้ ซึ่งแต่ละวันสามารถดูดเงินคนไทย ได้ถึง 150 ล้านบาท
หลังทำงานได้ประมาณ 1 เดือน ตนพยายามส่งสัญญาณให้คนไทยเวลาโทรทุกครั้ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกจับได้และถูกทำร้ายร่างกาย จนคิดหาวิธีเอาตัวรอด 4 วัน กระทั่งตัดสินใจกระโดดจากชั้น 5 ของอาคาร ข้ามกำแพง และหลบหนีออกมาได้
ตำรวจเผยไม่เคยพบผู้เสียหายเข้าแจ้งความ
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังไม่พบว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า กรณีการถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่พบนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกหลอกให้ส่งข้อมูลบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และ OTP หรือถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล หรือแอปฯ ดูดเงิน เพื่อควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ แล้วถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่านแอปฯ ธนาคารในโทรศัพท์จนเงินหมดบัญชี
จึงขอเรียนประชาชนว่า อย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับกรณีดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังไม่พบกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเทคโนโลยีในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที ตามที่มีการกล่าวอ้าง
ทั้งนี้ หากใครได้รับความเสียหายจากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที โดยไม่ได้มีการกดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือรหัสผ่าน และไม่ได้ติดตั้งแอปฯ ควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ให้รีบมาแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่โดยเร็ว พร้อมนำโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ว่าคนร้ายใช้เทคโนโลยีใดในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป
ดีอีเอส ชี้ดูดเงินจากการโทร 2 นาที ไม่จริง! อาจถูกล่อบันทึกเสียงยืนยันตัวตนคำพูดจาก เกมสล็อตมาใหม่
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษกกระทรวง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ในทางเทคนิค ซึ่งตนยังไม่พบรูปแบบหรือวิธีการในการหลอกลวงดูดเงินจากบัญชีเพียงแค่การพูดคุยทางโทรศัพท์ หากไม่มีการติดตั้งแอปฯ ที่ปลายทาง
โดยอาจจะมีขั้นตอนก่อนหน้านี้ เช่น มีการกดลิงก์ หรือสมัครแอปฯ มาก่อน และมีการโทรสอบถามรหัสผ่าน หรือหลอกบันทึกเสียงพูดเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าระบบธนาคารด้วยเสียง
จึงขอแจ้งเตือนว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกในเรื่องดังกล่าว
สมาคมธนาคารฯ ยืนยันไม่มีการใช้เสียงยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน
หลังจากที่ทางโฆษกกระทรวงดีอีเอส ออกมาให้ข้อมูลว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจหลอกบันทึกเสียงพูดเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าระบบธนาคารด้วยเสียงนั้น
ทำให้ทาง ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ออกมาชี้แจงว่า
ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ซึ่งระบบของธนาคาร มีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม
ทาง TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร
พร้อมแนะนำวิธีระวังมิจฉาชีพออนไลน์ 4 ข้อ ได้แก่
- ไม่ดาวน์โหลด รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลที่ไม่รู้จัก
- ไม่สแกนหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store
- เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ
- หากสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานโดยตรง
แนะ 8 วิธีป้องกันแอปฯ ดูดเงิน
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ยังระบุถึงวิธีป้องกันแอปฯ ดูดเงิน 8 วิธี ได้แก่
- ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น นอกจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
- ไม่ตั้ง password ซ้ำ หรือ ใช้ร่วมกับ Mobile Banking
- ไม่ทำการสแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก
- ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม โดยธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หากได้รับ SMS ดังกล่าว อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
- ควรสังเกต สัญลักษณ์โล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งควรมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น
- หากต้องการทำธุรกรรมใด ๆ ควรโทรฯ กลับไปที่หน่วยงานที่ถูกแอบอ้างด้วยตนเอง
- ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลข 13 หลัก ผ่านทางโทรศัพท์
- โทรแจ้ง 1441 สามารถแจ้งระงับอายัดบัญชีคนร้าย
ทั้งนี้ หากมีใครได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เปิดความหมาย "ดอกกุหลาบ" และ 40 ความหมายดอกไม้รับ "วันวาเลนไทน์"
104 แคปชัน-คำอวยพร วาเลนไทน์ 2567 ประโยคเด็ดบอกสถานะ โสด มีคู่ อกหัก
ทำความเข้าใจกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์” ก่อนสูญเสียที่ดินให้คนอื่นไม่รู้ตัว